หน้าแรกกล้วยไม้เกร็ดความรู้จากคุณชิเนนทร” ตอนที่ 3 (ภาคผนวก): สไตล์การเลี้ยงเอื้องฟ้ามุ่ยของคุณชิเนนทร

เกร็ดความรู้จากคุณชิเนนทร” ตอนที่ 3 (ภาคผนวก): สไตล์การเลี้ยงเอื้องฟ้ามุ่ยของคุณชิเนนทร

cr.Watana Navacharoen

สวัสดีเช้าวันพุธที่ 4/8/2021 ด้วยเรื่อง “เกร็ดความรู้จากคุณชิเนนทร” ตอนที่ 3 (ภาคผนวก): สไตล์การเลี้ยงเอื้องฟ้ามุ่ยของคุณชิเนนทร

-การให้ปุ๋ย คุณชิเนนทรจะให้ปุ๋ยสูตรสลับกันสัปดาห์ละ 1 ตัว เช่น สูตร 16-21-27 สลับกับ สูตร 21-21-21 ช่วงที่ต้องการกระตุ้นการเกิดช่อดอก ใช้สูตร 0-52-34 โดยพบว่า ใช้สูตรนี้ มีช่อดอกแทงออกมาเลย

-เอื้องฟ้ามุ่ยมีปัญหาติดเชื้อราได้ง่าย จึงให้ยากันเชื้อรา 1 ครั้ง/เดือน

-ให้ยาป้องกันแมลง 1-2 ครั้ง/เดือน

-เมื่อเอื้องฟ้ามุ่ยต้นยาวมาก และมีรากใหม่เกิดขึ้นแล้ว ให้ทำการ “ตัดยก” คือ ตัดในจุดที่ต่ำกว่ารากแขนงที่เกิดใหม่ ให้มีรากแขนงอย่างน้อย 1 ราก เพื่อเลี้ยงต้นที่ตัดยก ใช้ปูนแดง หรือ สีน้ำมัน ป้ายแผลเปิดตรงตำแหน่งที่ตัด

ประมาณ 1 เดือนต่อมา ตอเก่ามักแทงหน่อใหม่ ทำให้ได้เอื้องฟ้ามุ่ย 2 ต้น ถ้าไม่ทำการตัดยก ฟ้ามุ่ยมักอ่อนแอ และเป็นโรคเชื้อราเข้าไส้ตายไป

-ถ้ายังไม่มีรากใหม่ ไม่ควรทำการตัดยก เพราะว่า ถ้าตัดยกแล้ว การเกิดรากแขนงใหม่ จะเกิดขึ้นได้ยากมาก

-ถ้ารากเอื้องฟ้ามุ่ยมีตะไคร่น้ำคลุม (มักมีสาเหตุจากสวนที่มีความชื้นสูงมาก) ทำให้รากเอื้องฟ้ามุ่ยเป็นสีเขียว ไปบล็อก และแย่งน้ำและปุ๋ยจากกล้วยไม้ของเรา ดังนั้น ควรใช้น้ำยาฆ่าตะไคร่น้ำ หรือ ใช้น้ำยาทำความสะอาดละลายให้เจือจาง รากจะได้ดูดซับน้ำ และปุ๋ยได้เต็มที่

-เอื้องฟ้ามุ่ยที่นิยมสะสมกันมาก มี ๒ ชุด คือ

๑. ฟ้ามุ่ย ชุด รบ.๒ ซึ่งท่านรองศาสตราจารย์สุรวิช วรรณไกรโรจน์ นายกสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ข้อมูลว่า “ฟ้ามุ่ย รบ. ๒ เป็นลูกผสมของฟ้ามุ่ย ‘ทองหล่อ’ AM/RHT ซึ่งเป็นฟ้ามุ่ยป่าที่ อาจารย์ ดร.ทองหล่อ รักไพบูลย์สมบัติ ได้ซื้อติดดอกในงานประจำปีสมาคมกล้วยไม้ราชบุรี โดยออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

การที่ฟ้ามุ่ยต้นนี้ถูกฝากเลี้ยงไว้ที่สวนแห่งหนึ่งในราชบุรี แล้วมีการสับเปลี่ยนมือไป ทำให้มีการผสมพันธุ์ระหว่างการเปลี่ยนมือ จึงไม่แน่ชัดว่าฟ้ามุ่ยต้นพ่อ คือ ต้นไหน โดยค่อนข้างแน่ใจว่า ผู้ผสม คือ คุณไพโรจน์ ลีนะวัต เมื่อกลับมาที่ราชบุรี สวนจึงใช้รหัส “รบ.” ซึ่งย่อจาก “ราชบุรี”

ฟ้ามุ่ย รบ. ๒ เป็นฟ้ามุ่ยที่โด่งดังมากเนื่องจากมีลายสมุกชัด และฟอร์มกลม ในทำนองเดียวกับฟ้ามุ่ย ‘ทองหล่อ’ AM/RHT ต้นแม่พันธุ์ ซึ่งฟ้ามุ่ยที่ปลูกเลี้ยงกันอยู่จำนวนมากในปัจจุบัน สืบเชื้อสายจากฟ้ามุ่ยรหัสนี้”

หมายเหตุ: ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ท่านรองศาตราจารย์ ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ผมขอนำมารวมไว้ด้วยกันไว้

“รบ. ๒ เป็นลูกของ ๗๙๗๙ ต้นหนึ่ง โดย ๗๙๗๙ เป็นฟ้ามุ่ยลูกผสมระหว่างฟ้ามุ่ยป่า (ฟ้ามุ่ย #๑๕ x ฟ้ามุ่ย #๑๖) ของอาจารย์ตาล พิชยนันท์”

2. ฟ้ามุ่ยต้นแม่ริม เป็นผลงานการผสมของคุณลุงจ่าสมภู (จสต.สมภู นุชเครือ) สวนสายน้ำผึ้ง แม่ริม เชียงใหม่ ที่ให้ฟอร์มดอกกลมมาก ลายสมุกค่อนข้างชัดเจน สวยงาม

-การผสมเอื้องฟ้ามุ่ยซ้ำหลายๆ ครั้ง พอประมาณรุ่นที่ 3 เริ่มจะผสมได้ฝัก แต่ไม่มีเมล็ด

คอมเมนท์เพิ่มเติม

• คุณอุรัตน์ สดแสนรัตน์-ฟ้ามุ่ยของจ่าสมภู มีหลายต้นครับ เช่น ต้นบุเลงนอง ต้นจะเด็ด เคยคุยกับท่าน ท่านอาจเรียกเล่นก็เป็นได้ ลองถามลูกสาว หรือ ลูกเขยท่าน น่าจะได้ความ

ถ้าได้ความมาเล่า ก็จะเป็นประโยชน์กับชนรุ่นหลังน่ะครับ

“ของกินบ่กินมันซิเน่า ของเก่าบ่เล่ามันซิลืม”

• คุณรังสรรค์ (Rungsan Viraphandhu)-ฟ้ามุ่ยลูกต้นแม่ริม ผมเคยซื้อมาเลี้ยงเบอร์ 99 คุณจ่าสมภูบอกเบอร์นี้ดีสุด แต่ผมเลี้ยงครั้งแรกปี 2520 ไม่เหลือ

มาเห็นที่สวนพี่วิโรจน์ นว.สวยครับ ตอนหลังมาเห็นที่สวนเฮียเซ้ง สวยหลายต้น ได้ AM ก็หลายต้น

ประมาณ 5 ปีที่แล้ว ติดต่อขอซื้อฟ้ามุ่ยกับลูกชายเฮียเซ้ง บอกมีทั้งขายและตาย พอเป็นข้อมูลได้บ้างนะครับ

• รศ. ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์-“รบ. ๒ เป็นลูกของ ๗๙๗๙ ต้นหนึ่ง โดย ๗๙๗๙ เป็นฟ้ามุ่ยลูกผสมระหว่างฟ้ามุ่ยป่า (ฟ้ามุ่ย #๑๕ x ฟ้ามุ่ย #๑๖) ของอาจารย์ตาล พิชยนันท์” เป็นข้อมูลที่พูดกันโดยนักเลี้ยงฟ้ามุ่ยบางท่าน

ซึ่งผมเชื่อข้อมูลจากพี่หลง ตามที่ระบุว่า “ฟ้ามุ่ย รบ. ๒ เป็นลูกผสมของฟ้ามุ่ย ‘ทองหล่อ’ AM/RHT ซึ่งเป็นฟ้ามุ่ยป่าที่ อาจารย์ ดร.ทองหล่อ รักไพบูลย์สมบัติ ได้ซื้อติดดอกในงานประจำปีสมาคมกล้วยไม้ราชบุรี โดยออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

การที่ฟ้ามุ่ยต้นนี้ถูกฝากเลี้ยงไว้ที่สวนแห่งหนึ่งในราชบุรี แล้วมีการสับเปลี่ยนมือไป ทำให้มีการผสมพันธุ์ระหว่างการเปลี่ยนมือ จึงไม่แน่ชัดว่า ฟ้ามุ่ยต้นพ่อ คือ ต้นไหน โดยค่อนข้างแน่ใจว่า ผู้ผสม คือ คุณไพโรจน์ ลีนะวัต เมื่อกลับมาที่ราชบุรี สวนจึงใช้รหัส “รบ.” ซึ่งย่อจาก “ราชบุรี” ครับ

ผมได้นำเกร็ดความรู้มาฝากเพื่อนๆ ผู้รักการเลี้ยงกล้วยไม้ หวังว่า เพื่อนๆ จะได้เลี้ยงกล้วยไม้กันอย่างมีความสุข ได้เห็นดอกพรูสวยงาม เป็นรางวัลตอบแทนความใส่ใจของเรา

สวัสดีครับ

Must Read

spot_img